การศึกษาด้านดนตรี ของ อุดม อรุณรัตน์

  • เริ่มเรียนดนตรีจากบิดาซึ่งมีความสันทัดจัดเจนในทางเป่าขลุ่ย ต่อมาได้เรียนจะเข้กับครูเรือง เกษมสุข (ไม่ทราบปีเกิดและปีที่ถึงแก่กรรม) ในช่วงพ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๙ ซึ่งเป็นครูเครื่องสายที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสามารถเรียนจนจะเข้จนแตกฉาน สามารถบรรเลงเพลงเดี่ยวกราวในซึ่งเป็นเพลงสูงสุดในกระบวนเพลงเดี่ยว
  • ศึกษาซอสามสายจากพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) (พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๕๑๙) ผู้เชี่ยวชาญซอสามสายตามแบบราชสำนัก ซึ่งเป็นทางซอสามสายที่เก่าแก่สามารถสืบค้นตัวบุคคลที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ โดยท่านได้เป็นศิษย์เอกของพระยาภูมีเสวินได้รับการถ่ายทอดทางซอสามสายทั้งเพลงและเทคนิคการบรรเลงไว้จนหมด
  • ศึกษาทฤษฎีและดนตรีไทยวิเคราะห์จากอาจารย์ภาวาส บุนนาค(พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๕๓๗) อดีตรองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ จนได้แนวความคิดมาสำหรับในการวิจัยกะโหลกซอสามสายด้วยกะลาดัดจนเป็นผลสำเร็จ เหมือนกับของโบราณที่ได้ทำไว้ รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดทางเดี่ยวซอสามสายของครูเทวาประสิทธ์ พาทยโกศล ซึ่งเป็นทางซอสามสายที่ได้รับการสืบทอดมาจากพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
  • ศึกษาภาษาบาลีสันสกฤตกับนาวาอากาศเอกแย้ม ประพัฒน์ทอง (พ.ศ.๒๔๕๓-๒๕๒๙) จนสามารถเขียนตำราเรื่องดุริยางคดนตรีจากพระพุทธศาสนา
  • ศึกษาวิธีการดีดพิณน้ำเต้ากับอาจารย์กมล เกตุศิริ